สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

 ที่งอก เมื่อมีการครอบครองปรปักษ์แล้ว จะถือว่า ที่ดินที่เป็นที่งอกถูกครอบครองปรปักษ์ไปด้วยหรือไม่
เมื่อมีเหตุการณ์ว่า มีการครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกออกมาจากที่ดินนั้น โดยทางธรรมชาติแล้ว จะมีประเด็นว่า ที่งอกที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้น ผู้ครอบครองปรปักษ์จะต้องนับระยะเวลาใหม่ นับแต่ที่งอกนั้นเกิดมีขึ้นหรือไม่
ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับที่งอกนั้น อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 บัญญัติว่า ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของที่ดินแปลงนั้น โดยตามกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้มากรรมสิทธิ์เกิดมีขึ้นทันทีที่เกิดที่งอกนั้น ซึ่งเป็นไปตามหลักส่วนควบ
กรณีดังกล่าว มีคำพิพากษาของศาลได้ตัดสินไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4386/2551 โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี แม้บ้านของโจทก์จะอยู่นอกเขตที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกซึ่งจดแม่น้ำลพบุรีแต่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนควบกับที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

                ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า เดิมนายฮ้อและนางฮวยซึ่งเป็นบิดามารดาของนายหล่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8662 ตำบลเกาะลิง (บางปะหัน) อำเภอนครใน (บางปะหัน) แขวงเมืองกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 60 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดเอกสารหมาย จ.2 โจทก์ที่ 1 เป็นภริยานายหล่อ ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 ที่เกิดจากนายหล่อตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.1 จ.4 และ จ.5 ส่วนจำเลยและนายวงษ์เป็นบุตรของนายหล่อที่เกิดกับนางต๋อยซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2495 นายฮ้อทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายวงษ์ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 หลังจากนายฮ้อตาย นายวงษ์ได้รับมรดกเฉพาะส่วนของนายฮ้อ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2504 ตามบันทึกแก้ทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ภายหลังนางฮวยตาย จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามบันทึกแก้ทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.2 โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามคำสั่งศาลชั้นต้น และต่อมาได้ยกให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุตร ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่มีว่า โจทก์ทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางส่วนตามแผนที่วิวาทเอกสารหมาย จ.ล.1 หรือไม่ โจทก์ทั้งสี่นำสืบทำนองเดียวกันว่าได้ครอบครองปลูกบ้านอยู่บนที่ดินพิพาทที่บิดาแบ่งที่ดินดังกล่าวให้มานานร่วม 20 ปี โดยโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า หลังจากแต่งงานกับนายหล่อแล้ว นายฮ้อเคยพูดให้พยานฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายฮ้อและนางฮวยจะแบ่งที่ดินออกเป็นสองส่วน โดยแบ่งให้นายหล่อสามีโจทก์ที่ 1 ทางด้านทิศใต้ครึ่งหนึ่ง ส่วนทางด้านทิศเหนืออีกครึ่งหนึ่งยกให้แก่บุตรนายหล่อที่เกิดกับนางต๋อย โจทก์ทั้งสี่ได้ครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยมานานร่วม 20 ปี โดยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งจนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ภายหลังโจทก์ที่ 1 ทราบว่า จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโฉนด แล้วจำเลยได้รีบโอนที่ดินให้จำเลยร่วมซึ่งเป็นบุตรจำเลยเนื่องจากกลัวว่าโจทก์ทั้งสี่จะฟ้องร้อง เพราะขณะโจทก์ที่ 1 แต่งงานกับนายหล่อได้ย้ายเข้ามาอยู่บ้านเลขที่ 54 หมู่ที่ 7 ตำบลบางปะหัน อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาท ขณะนั้นจำเลยอายุเพียง 4 ขวบ อาศัยอยู่กับนางหวลผู้เป็นอา เมื่อจำเลยโตได้ย้ายไปอยู่ที่อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยอายุได้ 32 ปี ได้กลับมาอยู่กับนางหวลตามเดิม นางหวลจัดการให้จำเลยแต่งงานโจทก์ที่ 1 ได้ยกบ้านหลังใหม่ที่โจทก์ที่ 1 กับนายหล่ออยู่กินกันให้จำเลยรื้อเอาบ้านไป ส่วนโจทก์ที่ 1 ก็ยังคงครอบครองบ้านอยู่ที่เดิมโดยปลูกสร้างต่อเติมบ้านขึ้นมาใหม่อาศัยอยู่กับโจทก์ที่ 4 ใช้เลขที่บ้านเลข 54 เช่นเดิม ไม่ได้ย้ายไปไหน โดยอาศัยอยู่บนที่ดินพิพาทกับครอบครัวมานานถึง 40 ปี จนได้กรรมสิทธิ์ ส่วนจำเลยและจำเลยร่วมนำสืบว่าเดิมนายฮ้อได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8662 ที่พิพาทเฉพาะส่วนของนายฮ้อให้นายวงษ์พี่ชายจำเลย ต่อมานายวงษ์กับนางฮวยได้ยกที่ดินทั้งหมดให้จำเลยแต่เพียงผู้เดียว หลังจากจำเลยบรรลุนิติภาวะแล้วนายวงษ์ได้แจ้งให้จำเลยทราบและมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้ และจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ที่ดินดังกล่าวจนปี 2544 จำเลยจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์และศาลได้สั่งให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วตามเอกสารหมาย ล.7 ที่จำเลยอ้างว่าขณะเมื่อจำเลยบรรลุนิติภาวะแล้วก็ย่อมหมายความว่าจำเลยอายุ 20 ปีแล้ว นายวงษ์พี่ชายจำเลยบอกจำเลยว่า นางฮวยได้ยกที่เฉพาะส่วนของนางฮวยให้จำเลยก็เป็นเพียงคำพยานบอกเล่าเพราะนายวงษ์ได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างที่จำเลยอ้างหรือไม่ก็ไม่มีใครทราบได้ ส่วนนายวิชัยซึ่งเป็น

ลูกพี่ลูกน้องกับจำเลยเบิกความว่า ขณะนางฮวยได้พูดยกที่ดินพิพาทให้จำเลยพยานอยู่ในเหตุการณ์ด้วย และยังเบิกความอีกว่าขณะนางฮวยถึงแก่ความตายพยานมีอายุเพียง 7 ถึง 8 ขวบ ดังนั้นขณะนางฮวยพูดยกที่ดินพิพาทให้จำเลย พยานต้องอายุไม่ถึง 7 ขวบ อาจจะอายุเพียง 5 ถึง 6 ขวบ จึงไม่น่าเชื่อว่านายวิชัยจะรู้เรื่องและได้ยินนางฮวยพูดยกที่ดินพิพาทให้จำเลยและพยานสามารถจำเหตุการณ์ดังกล่าวได้ ซึ่งแม้แต่ตัวจำเลยเองยังไม่เคยทราบเรื่องนางฮวยยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจนกระทั่งจำเลยอายุครบ 20 ปี นายวงษ์จึงบอกเรื่องนางฮวยยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทราบดังจำเลยอ้าง ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงญาติพี่น้องอื่น ๆ ของจำเลยก็น่าจะบอกให้จำเลยทราบก่อนอายุครบ 20 ปีแล้ว พยานจำเลยจึงขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ คงมีแต่คำพยานบอกเล่าซึ่งมีน้ำหนักน้อย ส่วนโจทก์ที่ 1 ซึ่งแต่งงานอยู่กินเป็นภริยานายหล่อเป็นเวลา 40 กว่าปี และขณะนี้มีอายุถึง 80 ปี ยืนยันว่าได้อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 54 ตั้งแต่แต่งงานกับนายหล่อจนถึงปัจจุบันโดยนายฮ้อเคยบอกพยานว่าจะแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นสองส่วน ให้นายหล่อสามีโจทก์ที่ 1 ทางทิศใต้ครึ่งหนึ่ง ส่วนทางด้านทิศเหนืออีกครึ่งหนึ่งให้แก่บุตรของนายหล่อที่เกิดจากนางต๋อยก็คือนายวงษ์กับจำเลย โจทก์ที่ 1 ก็ได้ครอบครองอาศัยอยู่บนที่ดินพิพาทมาโดยตลอดจนบัดนี้ ซึ่งพยานจำเลยเองก็ยืนยันเจือสมกับโจทก์ที่ 1 ว่า เห็นโจทก์ทั้งสี่ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทโดยไม่มีใครโต้แย้งโดยเฉพาะจำเลยร่วมอายุถึง 30 ปีแล้ว ก็เบิกความยืนยันว่าตั้งแต่เกิดมาก็เห็นโจทก์ทั้งสี่ปลูกบ้านอยู่บนที่ดินพิพาทแล้ว ทั้งเมื่อพิเคราะห์สภาพครอบครองที่ดินโฉนดที่พิพาทมีลักษณะการครอบครองแบ่งแยกกันชัดเจน ฝ่ายโจทก์เป็นภริยาน้อยของนายหล่อ และฝ่ายจำเลยเป็นภริยาหลวงของนายหล่อซึ่งเป็นบุตรชายของนายฮ้อและนางฮวยตามเหตุผลหลังน่าจะสอดคล้องกับที่โจทก์ที่ 1 นำสืบว่านายฮ้อบิดานายหล่อสามีโจทก์ที่ 1 แบ่งที่ดินเป็นสองส่วนด้านทิศใต้ยกให้นายหล่อกับโจทก์ที่ 1 ปลูกบ้านอยู่กับลูก ๆ ส่วนทางด้านทิศเหนือยกให้แก่บุตรของนายหล่อที่เกิดจากนางต๋อยภริยาหลวงของนายหล่อซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว ยังเหลือแต่ลูก ๆ คือจำเลยกับนายวงษ์นั่นเอง ดังจะเห็นได้ว่า ฝ่ายโจทก์ที่ 1 แม้นายหล่อตายแล้วและลูก ๆ แต่งงานมีครอบครัวแล้ว คือ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ยังคงปลูกบ้านของตนอยู่บนที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้โดยโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ยกที่ดินพิพาทบางส่วนให้ลูก ๆ ปลูกบ้านอยู่อาศัย แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ได้อาศัยในที่ดินพิพาทโดยตลอด ด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของโดยถือว่านายฮ้อยกที่ดินพิพาทให้นายหล่อกับโจทก์ที่ 1 ครอบครองทางทิศใต้จริง การที่นายฮ้อทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 8662 เฉพาะส่วนของตนให้นายวงษ์บุตรของนายหล่อที่เกิดจากนางต๋อย และยังอ้างว่าส่วนของนางฮวยยกให้จำเลยด้วย นางฮวยกลับไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยเป็นหลักฐานเหมือนที่นายฮ้อยกให้นายวงษ์จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ เป็นที่น่าสงสัยอยู่ และแม้จำเลยจะอ้างว่า ระหว่างนายวงษ์มีชีวิตอยู่ได้ให้นางสมหมายและนายคนึงเช่าที่ดินพิพาทอยู่อาศัยตามเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 ก็ตาม ก็อาจจะเป็นเพราะนางสมหมายและนายคนึงทราบว่านายฮ้อทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้นายวงษ์จึงได้ทำสัญญาเช่ากับนายวงษ์เพราะอาจกลัวนายวงษ์ไม่ให้อยู่ในที่ดินพิพาทก็เป็นได้ จึงได้มีการทำสัญญาเช่ากันแต่ก็ทำสัญญากันครั้งเดียวตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2524 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2527 เท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นข้อยืนยันว่าทั้งสองคนดังกล่าวรับว่าที่ดินพิพาทที่ปลูกบ้านเป็นที่ของจำเลย พยานจำเลยและจำเลยร่วมที่อ้างว่าจำเลยเป็นผู้อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่พิพาทจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าโจทก์ทั้งสี่ เชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี แม้ตามแนวที่วิวาทตามเอกสารหมาย จ.ล.1 บ้านของโจทก์ที่ 1 จะอยู่นอกเขตที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกซึ่งจดแม่น้ำลพบุรีที่ดินส่วนดังกล่าวก็ย่อมเป็นที่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนควบกับที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ที่ 1 ครอบครองโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเกิน 10 ปี ก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ